เป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องดื่มยอดฮิตอย่างกาแฟนั้นมี “คาเฟอีน” อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งคาเฟอีนนี้มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ทำให้ตื่นตัว และนั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใครต่อใครต่างต้องการจากการดื่มกาแฟนั่นเอง
ทว่ากาแฟแต่ละชนิดต่างก็มีปริมาณคาเฟอีนที่แตกต่างกัน อีกทั้งระดับของการคั่วเมล็ดกาแฟก็มีหลายระดับให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นคั่วอ่อน คั่วกลาง หรือคั่วเข้ม โดยในบทความนี้ Bluekoff ก็จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกันว่า “จริงหรือไม่? กาแฟคั่วอ่อนมีคาเฟอีนมากกว่ากาแฟคั่วเข้ม”
คาเฟอีน หรือ กาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารเมทิลแซนทีน (Methylxanthine) ซึ่งเป็นแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine Alkaloids) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวและลดความง่วงได้ โดยคาเฟอีนเป็นสารที่มีรสขม ไม่มีกลิ่น สามารถพบได้ในธรรมชาติจากพืชหลายชนิด เช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา และโกโก้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้คาเฟอีนสกัดเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มอื่นๆ อีก เช่น น้ำอัดลมบางชนิด เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
นอกจากคาเฟอีนจะมีผลในการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดการตื่นตัว และรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้รู้สึกสงบ มีความสุข และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันคาเฟอีนก็มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีอาการใจสั่น กระวนกระวายใจ หรือรู้สึกหงุดหงิดได้เช่นกัน
เป็นที่รู้กันดีว่ากาแฟแต่ละสายพันธุ์นั้นมีปริมาณคาเฟอีนที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน จากงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ใน Springer Link ในปี ค.ศ. 2016 ระบุว่า เมล็ดกาแฟดิบ (Green Coffee Bean) ของกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า มีสารสกัดคาเฟอีนเฉลี่ย 3.41 – 3.85 กรัมต่อกาแฟ 100 กรัม ส่วนกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า มีสารสกัดคาเฟอีนเฉลี่ย 6.86 – 8.16 กรัมต่อกาแฟ 100 กรัม กล่าวคือ เมล็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามีปริมาณคาเฟอีนมากกว่าสายพันธุ์อราบิก้า ประมาณ 2 เท่า
นอกจากสายพันธุ์ของกาแฟแล้ว ปริมาณคาเฟอีนของกาแฟแต่ละแก้วยังแตกต่างกันได้โดยขึ้นอยู่กับเมนู วิธีการสกัดกาแฟ หรือปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย
“ระดับการคั่วกาแฟ” หรือ Roast Level คือ ระดับการไหม้ตามระยะเวลาของเมล็ดกาแฟในกระบวนการคั่วเมล็ด โดยกระบวนการคั่วหรือระยะเวลาในการคั่วจะมีผลต่อรสชาติกาแฟค่อนข้างมาก เมื่อเมล็ดกาแฟผ่านกระบวนการคั่วตามโปรไฟล์คั่ว (Roast Profile) ก็จะออกมาเป็นระดับการคั่วระดับต่างๆ เช่น คั่วอ่อน คั่วกลาง และคั่วเข้ม เป็นต้น
ในส่วนของความเชื่อหรือความเข้าใจเกี่ยวกับระดับการคั่วและคาเฟอีน หลายคนอาจเข้าใจว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้มจะมีคาเฟอีนที่สูงกว่า เนื่องจากคาเฟอีนเป็นสารที่มีรสขม หรือบางคนอาจเข้าใจว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้มจะมีคาเฟอีนต่ำกว่า เนื่องจากความร้อนในการคั่วทำให้สูญเสียคาเฟอีนบางส่วนไป ในขณะเดียวกันหลายคนก็ยังคงตั้งคำถามอยู่ว่านั่นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่
มีงานวิจัยจาก University of Porto ที่ระบุว่าไม่ว่าจะเป็นการคั่วระดับใดปริมาณคาเฟอีนที่วัดได้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง กระทั่งคั่วกาแฟด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่า 240 องศาเซลเซียส ปริมาณคาเฟอีนจึงจะเริ่มลดลง ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะทำให้คาเฟอีนแตกตัวออก และสูญเสียคาเฟอีนในเมล็ดกาแฟบางส่วนไป ส่งผลให้เมล็ดกาแฟคั่วอ่อนมีคาเฟอีนสูงกว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้ม
นอกจากนี้จากการศึกษาของ Han Juliet (Head Roaster) จาก Blue Bottle Coffee พบว่าความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการคั่วเมล็ดทำให้เมล็ดกาแฟมีการขยายตัว และสูญเสียน้ำหนักหรือมวลออกไปด้วย หากเปรียบเทียบเมล็ดกาแฟดิบที่มีขนาดเท่ากัน เมล็ดกาแฟคั่วเข้มจะมีขนาดใหญ่และเบากว่าเมล็ดกาแฟคั่วอ่อน
เมื่อทำการเปรียบเทียบเมล็ดกาแฟแบบเมล็ดต่อเมล็ดจากระดับการคั่วที่ต่างกัน จะพบว่าเมล็ดกาแฟคั่วเข้มมีปริมาณคาเฟอีนที่เท่ากันหรือน้อยกว่าเมล็ดกาแฟคั่วอ่อนเล็กน้อย
ทว่าในการชงกาแฟของแต่ละคนหรือแต่ละแห่งก็จะมีสัดส่วน Ratio ที่แตกต่างกันออกไป และมักวัดปริมาณผงกาแฟโดยใช้การชั่งน้ำหนัก ซึ่งเมื่อเทียบด้วยน้ำหนักที่เท่ากันและขนาดการบดเท่ากันก็จะพบว่า เมล็ดกาแฟคั่วเข้มมีปริมาณคาเฟอีนที่มากกว่า เนื่องจากความหนาแน่นหรือน้ำหนักของเมล็ดกาแฟคั่วเข้มน้อยกว่าเมล็ดกาแฟคั่วอ่อนดังที่กล่าวมาข้างต้น หากต้องการน้ำหนักเท่ากันก็จะต้องใช้จำนวนเมล็ดกาแฟที่มากกว่านั่นเอง
สรุป
หากต้องตอบคำถามว่า “จริงหรือไม่? กาแฟคั่วอ่อนมีคาเฟอีนมากกว่ากาแฟคั่วเข้ม” ก็คงมีทั้ง “จริงและไม่จริง”
การเปรียบเทียบคาเฟอีนจากระดับการคั่วนั้นจึงอาจยากเกินไปที่จะระบุอย่างชัดเจนว่า การคั่วแบบไหนมีปริมาณคาเฟอีนที่มากกว่าหรือน้อยกว่ากัน เนื่องจากในขั้นตอนการสกัดกาแฟนั้นมีรายละเอียดอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณของคาเฟอีน เช่น ความร้อนของน้ำ ระยะเวลาในการสกัด และระดับของการบด เป็นต้น และเมล็ดกาแฟคั่วเข้มกับคั่วอ่อนต่างก็มีเมนูและ Ratio ที่เหมาะสมแตกต่างกันไปตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล
ดังนั้น สำหรับใครหรือเพื่อนๆ คนไหน ที่ต้องการควบคุมปริมาณคาเฟอีนที่จะเข้าสู่ร่างกาย อาจต้องหา Ratio ที่ชอบ สูตรกาแฟที่ใช่ ระดับการคั่วที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอ และดื่มกาแฟอย่างพอดีนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
https://www.bluekoff.com/Article.aspx?m=view&cat=&id=90
https://medium.com/@hanjuliet/correlation-between-caffeine-and-roast-levels-using-hplc-833c5d57b12b
Bluekoff Co.,Ltd. สำนักงานใหญ่
และสถานที่เรียนชงกาแฟ
81 ซอยลาดพร้าว 15 แยก 1 ถนนลาดพร้าว
แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
จันทร์ - เสาร์ 8:30น. - 17:00น.
หยุดวันอาทิตย์ และวันหยุดนขัตฤกษ์